เหตุผลทีบางคนดื่มกาแฟแล้วยิ่งง่วง

เหตุผลทีบางคนดื่มกาแฟแล้วยิ่งง่วง

อาการที่ดื่มกาแฟแล้วง่วงนอนนั้นเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ แต่ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทั้งที่การดื่มกาแฟที่มีสารคาเฟอีนควรจะช่วยให้เราตาค้าง ตาสว่างขึ้นสิ เรื่องนี้มีคำอธิบาย

กาแฟ (บางคน) ยิ่งดื่มก็ยิ่งง่วง เป็นเพราะอะไร?

คาเฟอีนที่เรารู้จัก
หากพูดถึงคาเฟอีน (ไม่ใช่เฮโรอีน) ร้อยทั้งร้อยจะต้องนึกถึงกาแฟก่อนเป็นอย่างแรก ตามมาด้วยเครื่องดื่มประเภทชา น้ำอัดลม และเครื่องดื่มชูกำลัง คาเฟอีนที่เรารู้จัก มีคุณสมบัติออกฤทธิ์ต้านสารที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนในสมอง ซึ่งก็คือสารแอดิโนซีน (adenosine) เป็นเหตุให้คนที่ดื่มกาแฟ หรือรับคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกายจึงไม่ง่วง และรู้สึกตื่นตัว

สารแอดิโนซีน เป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง ที่สะสมขึ้นภายในเซลล์ประสาท เพราะปกติแล้ว สารแอดิโนซีนจะเกิดจากการใช้พลังงานของร่างกายอยู่แล้ว ยิ่งใช้พลังงานมากร่างกายก็อ่อนเพลีย ทำให้มีสารนี้สะสมในสมอง ก็จะทำให้เราง่วง ยิ่งมีระดับของแอดิโนซีนในระบบประสาทตื่นตัวในก้านสมองมากเท่าไร ก็จะมีความเกี่ยวข้องกับระดับความง่วงนอนที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น การรับคาเฟอีนเข้าสู่ระบบประสาทจึงออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของแอดิโนซีนภายในสมอง กระตุ้นให้สมองและร่างกายตื่นตัว

การดื่มกาแฟ จะไปต้านการทำงานของแอดิโนซีนในสมองได้ ก็ต่อเมื่อแอดิโนซีนยังไม่จับกับตัวรับในสมอง (ยังไม่จับก็ยังไม่ง่วง) เพราะฉะนั้น ถ้าจะดื่มกาแฟเพื่อให้ตื่นตัว ควรจะดื่มก่อนที่จะง่วง แต่หากง่วงแล้วค่อยดื่ม คุณสมบัติของคาเฟอีนอาจจะไม่ได้ช่วยให้ตื่นตัวมากนัก ต้องรอให้สมองจัดการกับสารแอดิโนซีนชุดนี้ไปก่อน (หรือไปนอน) เราถึงจะรู้สึกสดชื่นขึ้น

การที่ร่างกายได้รับคาเฟอีน จะเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทโดปามีน (dopamine) ซึ่งทำให้สมองเกิดการตื่นตัว นอกจากนี้พบว่าอาจจะมีการเพิ่มปริมาณของซีโรโทนิน (serotonin) ซึ่งมีผลต่ออารมณ์ด้วย ซึ่งจะทำให้รู้สึกพึงพอใจและมีความสุข

ดื่มกาแฟแล้วยิ่งง่วงนอน
โดยปกติแล้ว กาแฟจะมีฤทธิ์กระตุ้นการตื่นตัวได้อยู่ประมาณ 15-30 นาที อีกไม่นานต่อจากนั้น คาเฟอีนก็จะถูกเผาผลาญไป จากนั้นร่างกายจะค่อย ๆ กลับไปง่วงหรือเพลียเหมือนเดิม นั่นทำให้เราจะต้องหากาแฟดื่มเข้าไปใหม่เพื่อปลุกภาวะการง่วงให้ตื่นตัว

แต่ใครที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ ร่างกายก็จะปรับตัวให้เคยชินกับปริมาณคาเฟอีนที่ได้รับ เมื่อชินร่างกายก็ปล่อยปล่อยสารแอดิโนซีนออกมาเพิ่ม (พยายามจะเอาชนะกัน) เมื่อดื่มกาแฟในปริมาณเท่าเดิมจึงไม่หายง่วง แถมระยะเวลาที่ตื่นตัวก็สั้นลงเรื่อย ๆ พอถึงจุดหนึ่ง ร่างกายจะเข้าสู่ภาวะดื้อคาเฟอีน กลายเป็นว่ารับคาเฟอีนเข้าไปเพื่อให้หายง่วงกลับไม่ได้ผล กินแล้วก็ง่วงอยู่ดี

หรืออีกนัย คาเฟอีนในกาแฟมีฤทธิ์ขัดขวางตัวรับสารแอดิโนซีนในสมอง เพื่อไม่ให้มันจับกัน แต่คาเฟอีนไม่ได้มีฤทธิ์หยุดการผลิตสารแอดิโนซีน แล้วก็ไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาขัดขวางตัวรับแอดิโนซีนเพิ่มขึ้นด้วย หมายความว่าเมื่อฤทธิ์คาเฟอีนหมดลง สมองก็สะสมสารแอดิโนซีนที่ต้องการจับตัวกับตัวรับ จนนำไปสู่ความเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย

 

Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *